Sem Pringpuangkeo Foundation

โครงการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน (เสมสรรพสิ่ง)


ความเป็นมา

โครงการเสมสรรพสิ่ง เป็นโครงการส่งเสริมการทำเกษตรธรรมชาติ คือการนำแนวคิดในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับทำการเกษตรแบบผสมผสานไร้สารเคมี โดยให้มีสัดส่วนเพียงพอต่อการปลูกข้าวปลูกพืชผักท้องถิ่น ทำการประมงและปศุสัตว์ เพื่อให้ระบบนิเวศเกื้อกูลต่อกันและกัน โดยเน้นการพึ่งตนเองให้มากที่สุด อาศัยสรรพสิ่งในธรรมชาติ สามารถเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืนและมีรายได้ที่มั่นคง ณ หมู่บ้านเหมืองลึก  ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย

วัตถุประสงค์

            เพื่อเป็นพื้นที่สาธิตการทำเกษตรกรรมไร้สารเคมีแบบพึ่งพาตนเอง เนื่องจากอาชีพเกษตรกรรมกำลังหายไป โดยเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนในความอุปการะของมูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว รวมถึงเยาวชนและเกษตรกรในพื้นที่โครงการที่สนใจเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีเกษตรใหม่ ๆ ในการปลูกข้าว พืชผัก การประมงและปศุสัตว์ ผสมผสานกัน พร้อมทั้งพึ่งพาอาศัยกันตามธรรมชาติ เพื่อลดการลงทุน รักษาสุขภาพ และเป็นเกษตรกรรมที่ยั่งยืนต่อไป

      กิจกรรมภายในพื้นที่โครงการ

  1. ปลูกข้าว

จัดกิจกรรม "ปลูกข้าว" เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้การปลูกข้าวและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง พร้อมทั้งเรียนรู้เกี่ยวกับคุณค่าของข้าวที่เป็นอาหารหลักของคนไทย เพื่อปลูกฝังข้อคิดและความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมข้าวของคนไทย

  1. ปศุสัตว์

ในพื้นที่มีการเลี้ยงเป็ดและไก่ไข่ ซึ่งสามารถผลิตไข่สำหรับบริโภคและจำหน่ายได้เฉลี่ยประมาณวันละ 40 ฟอง มูลเป็ดและไก่ยังเป็นอาหารให้กับปลาที่เลี้ยงในบ่อ อีกทั้งเป็ดยังช่วยกำจัดศัตรูของข้าว เช่น หอยและแมลง เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เลี้ยงหมู ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ราคาดี อีกทั้งมูลของหมูยังสามารถนำไปใช้เป็นอาหารของปลาได้อีกด้วย

  1. ปลูกผักปลอดสารพิษ

โครงการได้ปลูกผักหลากหลายชนิดที่นิยมบริโภคในชุมชน เช่น ผักกาด กะหล่ำปลี ผักบุ้ง ถั่ว ฯลฯ โดยจำหน่ายในตลาดชุมชนผักปลอดสารพิษและผู้สนใจทั่วไป

  1. เลี้ยงปลา

ในพื้นที่โครงการ มีการเลี้ยงปลาประมาณ 4,000 ตัว ซึ่งเป็นปลาที่นิยมบริโภคในชุมชน เช่น ปลาหมอ ปลาทับทิม ปลานิล ปลาไน เป็นต้น ซึ่งสวนเสมสรรพสิ่งจะเน้นการผลิตอาหารปลาด้วยตนเอง ทำให้ได้ปลาที่ปลอดภัยต่อการบริโภคเนื่องจากเป็นการเลี้ยงโดยธรรมชาติ

  1. กิจกรรมอบรมให้ความรู้

ทุกช่วงปิดภาคเรียน โครงการจะจัดกิจกรรมค่ายเกษตรให้แก่เด็กในโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์ ซึ่งแต่ละภาคเรียนจะมีเด็กเข้าร่วมประมาณ 30 คน โดยเน้นให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง เช่น กิจวัตรประจำวันของเกษตรกร การทำอาหารและให้อาหารสัตว์ การทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ การเตรียมพื้นที่ปลูกผัก การกำจัดวัชพืช และการดูแลรักษาความสะอาดของเล้าสัตว์และพื้นที่โดยรอบ รวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะนำวัตถุดิบในพื้นที่มาประกอบอาหารรับประทานเอง เป็นการเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง

  1. การจัดทำหนังสือคู่มือ “เสมสรรพสิ่ง”

โครงการได้จัดทำหนังสือคู่มือเสมสรรพสิ่ง โครงการเกษตรกรรมยั่งยืน จัดพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 1,000 เล่ม เนื้อหาครอบคลุมทั้งที่มาและความสำคัญของโครงการ ความสำคัญของการเกษตร การออกแบบและจัดการพื้นที่ วิธีเลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าว ปลูกผัก รวมถึงข้อมูลความรู้ในการผลิตปุ๋ยหมักธรรมชาติและการกำจัดศัตรูพืช โดยได้แจกจ่ายคู่มือดังกล่าวไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของสังคมในวงกว้าง อีกทั้งใช้เป็นคู่มือความรู้หลักในการจัดกิจกรรมค่ายเกษตรให้แก่เด็กและประชาชนที่สนใจ

  1. การติดตั้งแผงพลังงานโซลาเซลล์

ปัจจุบันโครงการได้ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ 100 วัตต์ จำนวน 4 แผง ในบ่อปลาซึ่งเป็นพื้นที่น้ำที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยติดตั้งบนแพไม้ไผ่ เบื้องต้นสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงพอสำหรับปั๊มน้ำใช้รดน้ำผักและแสงไฟให้ความสว่างในตอนกลางคืน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของพลังงาน และจะเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานไฟฟ้าจากธรรมชาติแทนการใช้น้ำมัน








ผู้สนับสนุน
 



โครงการ

โครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว

โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชน

โครงการรางวัลเสม อวอร์ด

โครงการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน (เสมสรรพสิ่ง)